เทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่รถยนต์ไฟฟ้าก็ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทย หลายคนเกิดข้อกังวลว่าหากขับรถยนต์ไฟฟ้าแล้วเจอปัญหา จะมีวิธีแก้ไขสถานการณ์อย่างไร เกรท วอลล์ มอเตอร์ ผู้นำด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มีแนวทางง่ายๆ ในการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นขณะขับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้งานรถไฟฟ้ากัน
แบตเตอรี่คงเหลือมีไม่มาก ต้องเร่งค้นหาสถานีชาร์จเป็นการด่วน ต้องทำอย่างไร?
ระหว่างเดินทางถ้าแบตเตอรี่เหลืออยู่ไม่มาก ก็สามารถค้นหาจุดชาร์จใกล้ตัวได้อย่างง่ายดาย เพราะปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนต่างช่วยกันผลักดันระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เข้าถึงง่ายขึ้นด้วยการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมหลายพื้นที่ ผู้ใช้งานจึงสามารถใช้ Google Maps ค้นหาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น EV charging, EV charging stations หรือ EV Charger
หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ช่วยค้นหาสถานีชาร์จ ซึ่งบางแอปฯ สามารถเช็กความพร้อมในการให้บริการของแต่ละสถานี เช็กสถานะขณะชาร์จได้แบบเรียลไทม์ และเลือกจองคิวการชาร์จล่วงหน้าได้อีกด้วย อาทิ EVolt, EA Anywhere, PlugShare, MEA EV, EV Station PluZ, PEA VOLTA, GO TO-U รวมถึง G-Charge ที่สร้างความอุ่นใจให้ผู้ขับขี่ด้วยการรวบรวมพิกัดสถานีชาร์จทั่วประเทศไทยให้มาอยู่ในแอปเดียว
ในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ GWM App จะครอบคลุมเครือข่ายสถานีชาร์จกว่า 65% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 85% ภายในปีนี้ สำหรับสถานีชาร์จทั้งหมดของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ จะติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ DC Fast Charge กำลังสูง เริ่มต้นที่ 120 kW ให้บริการรถทุกยี่ห้อ เปิดทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง และสะดวกสบายด้วยการใช้งานผ่าน GWM Application ซึ่งผู้ใช้งานสามารถค้นหาสถานีชาร์จ จองเวลาในการชาร์จ และชำระค่าใช้จ่ายในการชาร์จได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันปัญหาแบตเตอรี่หมดกลางทางก็คือการวางแผนเส้นทางและการชาร์จล่วงหน้า เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสี่ยงลุ้นจนใจหายระหว่างการเดินทาง
ในกรณีที่รถเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดขัดข้องกลางถนนต้องทำอย่างไร?
สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อรถดับหรือรถเสียกลางถนนคือ การเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน เพื่อแจ้งให้ผู้ขับขี่ที่ตามมาเข้าใจว่าเรากำลังประสบปัญหาอยู่ หลังจากนั้นแนะนำให้ดับเครื่องยนต์ไว้ประมาณ 20 นาที แล้วลองสตาร์ทเครื่องใหม่ หรือทำการรีเซ็ตระบบของตัวรถ และลองสตาร์ทรถอีกครั้ง หากอาการยังไม่ดีขึ้น ให้รีบโทรขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น 191 ตำรวจ, 1193 ตำรวจทางหลวง สายด่วน 1669 เจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือโทรแจ้งบริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน เป็นต้น ส่วนใครที่ทำประกันรถยนต์ไว้ สามารถโทรติดต่อบริษัทที่ทำประกันภัยรถยนต์อยู่ได้เลย
ด้าน เกรท วอลล์ มอเตอร์ เองก็มีเทคโนโลยีที่ติดตั้งภายในรถ GWM ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในกรณีเกิดเหตุไม่คาดคิด โดยจะมีปุ่ม SOS ให้กดโทรออกเพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ส่วนอีกปุ่มจะเป็นปุ่มบริการลูกค้าที่ขอความช่วยเหลือไปยัง Roadside Assistance หรือ บริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน 24 ชั่วโมง* ซึ่งมีทีมงานมืออาชีพที่พร้อมประสานงานและสามารถไปถึงจุดเกิดเหตุได้ภายใน 30 นาทีสำหรับเหตุฉุกเฉิน และภายใน 45 นาที สำหรับบริการรถยก** นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถติดต่อเมื่อเกิดเหตุ นั่นก็คือติดต่อ GWM Contact Centre ผ่านทาง GWM Application หรือโทรโดยตรงที่เบอร์ 02-668-8888 กด 1 บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน โดยแจ้งชื่อ–นามสกุล เบอร์ติดต่อ และหมายเลขตัวถัง (VIN no.) ซึ่งเป็นรหัสประจำตัวของรถแต่ละคันที่ไม่ซ้ำกันจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานในการสืบค้นข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น แต่ถ้าหากรถของท่านประสบอุบัติเหตุ กรุณาติดต่อบริษัทประกันเพื่อประสานงานให้ความช่วยเหลือต่อไป
ด้วยความที่รถยนต์พลังงานทางเลือกใช้พลังงานจากไฟฟ้า และมีกลไกการทำงาน รวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยี ไม่เหมือนกับรถยนต์สันดาปทั่วไป หลายคนจึงกังวลว่าหากรถมีปัญหาหรือระบบต่างๆ ทำงานผิดปกติ ต้องหันหน้าไปพึ่งใครดี ซึ่งก็ขอบอกให้วางใจได้ว่าอู่รถยนต์หลายแห่งในปัจจุบันได้เตรียมความพร้อมด้วยการส่งช่างเทคนิคไปเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบของรถอีวี หรือหากอยากได้ความมั่นใจยิ่งขึ้น ผู้ใช้ก็สามารถรายงานความเสียหายไปยังศูนย์บริการของค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่ซื้อมาได้เลย อย่าง เกรท วอลล์ มอเตอร์ ก็มี ศูนย์บริการมาตรฐาน GWM Partner Store ครอบคลุมในหลายพื้นที่ และพร้อมดูแลลูกค้าด้วยทีมงานที่เชี่ยวชาญ ผ่านการอบรมตามมาตรฐาน GWM นอกจากนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังมอบคู่มือการใช้งานมาพร้อมกับตัวรถ ซึ่งเผยเทคนิคการใช้รถยนต์ไฟฟ้า พร้อมอธิบายการใช้งานครบทุกฟังก์ชันในรถอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ขับขี่ทำความเข้าใจกับฟีเจอร์ต่างๆ ก่อนหรือขณะใช้งานจริง
ขับรถไฟฟ้าลุยน้ำได้หรือไม่?
ปัญหาที่พบเจอกันเป็นประจำช่วงหน้าฝนสำหรับรถยนต์สันดาปภายใน เนื่องจากรถยนต์สันดาปโดยทั่วไปจะมีระบบระบายอากาศหรือความร้อนที่เชื่อมต่อภายนอก ซึ่งเป็นช่องทางเสี่ยงทำให้น้ำสามารถเข้าสู่เครื่องยนต์ได้ในกรณีน้ำท่วมสูง ซึ่งแตกต่างจากระบบของรถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้รับการออกแบบตัวรถให้มีระบบปิด สามารถป้องกันความเสี่ยงเมื่อเกิดน้ำท่วมได้ดีกว่า ทั้งตัวมอเตอร์ แบตเตอรี่ และระบบชาร์จไฟ ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีความเสี่ยงจากเหตุการณ์น้ำท่วมได้ลดลง
ข้อควรพิจารณาก่อนขับรถลุยน้ำ คือการประเมินระดับน้ำให้สูงไม่เกิน 30 เซ็นติเมตร หรือประมาณฟุตบาทริมทาง หรือถ้าประมาณครึ่งล้อก็ยังพอลุยไหว แต่ถ้าน้ำท่วมสูงเลยขอบประตูรถเมื่อไหร่ไม่แนะนำให้ทำการขับขี่ต่อไป เพราะน้ำอาจเข้ามาในตัวรถจนทำให้ระบบต่างๆ ของตัวรถเสียหายเนื่องจากทุกระบบของรถยนต์ไฟฟ้า จะใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานหลักในการทำงานและขับขี่ จึงควรระมัดระวังไม่ให้น้ำเข้าในตัวรถที่จะสามารถสร้างความเสียหายให้กับสายไฟและระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบแบตเตอรี่ ระบบมอเตอร์เกียร์ ระบบกล่องควบคุมเครื่องยนต์ ซึ่งถึงแม้ว่าระบบเหล่านี้จะมีการซีลกันน้ำไว้เป็นอย่างดีแล้วก็ตาม
ด้านแบตเตอรี่ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้านั้น จะมีการทดสอบ IP Rating (Ingress Protection) ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานในการป้องกันของแข็งและของเหลวเล็ดลอดเข้าภายใน เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลของไฟฟ้าแรงสูงในกรณีที่รถจมอยู่ใต้น้ำ โดยค่ามาตรฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยทั่วไปอยู่ที่ IP67 การันตีว่าสามารถป้องกันความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมไม่เกิน 1 เมตรได้ ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที สำหรับ ORA Good Cat นั้นได้รับมาตรฐาน IP67 เช่นกัน โดยแบตเตอรี่สามารถกันน้ำจากการแช่น้ำความลึกไม่เกิน 1 เมตรได้สูงสุด 30 นาที และยังสามารถกันฝุ่นได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งยังสามารถขับลุยน้ำได้ลึกถึง 40 เซ็นติเมตรอีกด้วย ดังนั้นผู้ขับขี่สามารถมั่นใจได้ว่าน้ำท่วมจะไม่สามารถก่อความเสียหายให้กับแบตเตอรี่ของตัวรถได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงจากการรั่วซึมของน้ำเข้าไปในส่วนประกอบของแบตเตอรี่ได้ โดยเฉพาะในน้ำเค็มซึ่งมีความสามารถกัดกร่อนตามธรรมชาติ อาจทำให้เป็นอันตรายต่อแบตเตอรี่ลิเธียม ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการนำรถไปลุยน้ำในระดับสูงในระยะเวลายาวนานน่าจะเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
สำหรับการดูแลรถภายหลังจากลุยน้ำท่วมมา ควรแตะเบรกซ้ำๆ เพื่อไล่น้ำออกจากผ้าเบรกซัก 5-10 นาทีหรือในกรณีที่น้ำเข้าในตัวรถ ให้นำรถไปตากแดด เปิดกระโปรงรถ และเปิดประตูไว้เพื่อไล่ความชื้นออกจากรถให้เร็วขึ้น หากไม่มั่นใจ แนะนำให้นำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อตรวจเช็คทุกระบบดูอีกครั้งเพื่อความอุ่นใจในการขับขี่
ชาร์จรถไฟฟ้าที่สถานีชาร์จแล้วไฟไม่เข้า หรือดึงสายชาร์จไม่ออก ต้องทำอย่างไร?
ในช่วงแรกๆ ของผู้ที่หันมาใช้งานรถไฟฟ้าจะมีความสับสนอยู่พอสมควรกับวิธีการชาร์จไฟ และตำแหน่งของพอร์ตชาร์จ ซึ่งผู้ขับขี่จะเริ่มคุ้นชินไปเองหลังจากใช้งานรถไปสักพัก แต่หากอยู่ดีๆ แล้วกลับชาร์จไฟไม่เข้านั้นอาจเป็นเพราะการเสียบหัวชาร์จที่ไม่สนิท ซึ่งแก้ไขง่ายๆ เพียงปลดล็อครถแล้วเสียบหัวชาร์จกลับเข้าไปใหม่ให้แน่นและสนิท จากนั้นกดล็อครถ ต่อด้วยกด Recharge ในแอปพลิเคชันถือเป็นการจบขั้นตอน
ส่วนการถอดสายชาร์จออกจากพอร์ตชาร์จนั้น ในรถหลายรุ่นจำเป็นต้องปลดล็อคประตูรถก่อน ขณะที่บางรุ่นต้องกดปลคล็อคพอร์ตชาร์จด้วย เช่น ORA Good Cat จะไม่มีปุ่มกดปลคล็อคพอร์ตชาร์จ เราต้องปลดล็อครถยนต์ก่อนจากนั้นค่อยดึงออก ส่วนสาเหตุที่ไม่สามารถถอดหัวชาร์จออกจากตัวรถได้ อาจเกิดจากกระบวนการสื่อสารระหว่างตัวรถกับเครื่องชาร์จไม่ถูกต้องตามมาตรฐานของตัวรถ เช่น หยุดชาร์จเองก่อนหมดเวลา ดังนั้นแนะนำให้ล็อค – ปลดล็อค 3 รอบ เป็นการตัดระบบไฟฟ้าของรถ ก็จะสามารถถอดหัวชาร์จออกได้ แต่ถ้าหากยังไม่สามารถถอดได้ ให้ทำการตัดไฟฝั่งเครื่องชาร์จโดยการกดปุ่ม Emergency หรือ Off Breaker main ก็จะสามารถถอดหัวชาร์จออกได้ ทั้งนี้หากทำตามขั้นต้นแล้วยังไม่สามารถถอดหัวชาร์จออกจากตัวรถได้ ให้โทรติดต่อ Call Center ของผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อดำเนินการแก้ไขในทางเทคนิคต่อไป
ข้อควรรู้ระหว่างการชาร์จ หากผู้ขับขี่ต้องการหยุดชาร์จ สำหรับการชาร์จที่ตู้สาธารณะนั้นจำเป็นต้องสั่งการหยุดชาร์จที่ตัวแอปพลิเคชันก่อนเพื่อให้ระบบของรถและตู้ชาร์จเชื่อมต่อเข้าขั้นตอนการสั่งหยุดจ่ายไฟ ขณะที่การชาร์จที่บ้านนั้นสามารถหยุดชาร์จได้ทันที
รถไฟฟ้าต้องดูแลรักษาอะไรบ้าง ต้องเช็กระยะเหมือนรถยนต์ทั่วไปหรือไม่?
แม้รถยนต์ไฟฟ้าอาจจะไม่ต้องการการดูแลที่ยิบย่อยเท่ากับรถยนต์เครื่องสันดาป และมีชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่น้อยกว่ารถยนต์แบบทั่วไปหลายเท่า การเช็กระยะถือเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานทุกท่านยังต้องให้ความสำคัญ การเช็กระยะให้ตรงตามรอบจะช่วยยืดอายุการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าได้นานขึ้นและเพื่อการขับขี่ที่ไร้กังวล ซึ่งศูนย์บริการจะทำตรวจสอบการใช้งานและความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับมอเตอร์ แบตเตอรี่ ระบบชาร์จไฟ ระบบระบายความร้อน หม้อน้ำ เกียร์ ระบบส่องสว่าง และยางรถยนต์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่รถยนต์ไฟฟ้ามีกำหนดเข้ารับบริการเช็กระยะกับศูนย์บริการทุกๆ 12 เดือน หรือ 15,000 กิโลเมตร (แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน) อย่างไรก็ตาม สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ORA Good Cat ของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ มีแพ็คเกจบำรุงรักษาตามระยะทางฟรี 5 ปี หรือ 75,000 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมทั้งค่าแรงและอะไหล่สิ้นเปลือง (สำหรับลูกค้า Premiere Deal จะไม่ครอบคลุมแบตเตอรี่ 12 โวลต์ ใบปัดน้ำฝน ผ้าเบรก) โดยลูกค้าสามารถใช้รถได้อย่างอุ่นใจและไร้กังวลในทุกการขับขี่
นอกจากนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังมีบริการ Mobile Service* บริการเช็กระยะตามตารางบำรุงรักษานอกสถานที่ ด้วยรถยนต์เคลื่อนที่มาพร้อมอุปกรณ์ครบครันและทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับลูกค้า รวมถึง Pick Up And Delivery On Demand บริการรับรถเพื่อเข้าบำรุงรักษาตามระยะทางที่ศูนย์บริการมาตรฐาน GWM และส่งมอบรถยนต์คืน ณ สถานที่นัดหมาย หลังบริการเสร็จสิ้น เพียงแค่ทำการนัดหมาย 2 วันล่วงหน้าได้ที่แอปพลิเคชัน GWM หรือ Partner Store ที่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ หรือผ่านช่องทาง GWM Contact Centre โทร 02-668-8888
*บริการหลังการขายตลอด 5 ปี เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯกำหนด
**ระยะเวลาสำหรับเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
***เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด