พาชมเบื้องหลังหนังสั้น ‘Merman’ ความสะเทือนใจใต้ท้องทะเล
Jul 2, 2022

หนังสั้น ‘Merman- Ocean Pollution Film’ หนังสั้นเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลตามมาจากการกระทำต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งตั้งแต่หนังสั้นเชิงอนุรักษ์เรื่อง Merman ได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 มีผู้เข้าชมบน YouTube แล้วมากกว่า 120,000 ครั้ง

สิรณัฐ สก็อต (ทราย สก็อต) นักอนุรักษ์ทะเลไทยรับบทเป็นมนุษย์เงือก เพื่อสื่อสารและถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจและไร้มนุษยธรรมที่เกิดขึ้นกับท้องทะเล ซึ่งฉากใต้น้ำทุกฉากเป็นการถ่ายทำใต้ท้องทะเลจริงแบบเรียลไทม์ และไม่มีการใช้เทคนิคพิเศษโดยคอมพิวเตอร์ อีกทั้งใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ดังนั้น หนังสั้นเชิงอนุรักษ์เรื่องนี้จึงคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน

ทราย สก็อต เล่าว่า “มนุษย์เลือกทำสิ่งต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต และบ่อยครั้งที่การกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์ได้ละเมิดสิทธิและทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบและทำลายห่วงโซ่อาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญต่อมนุษย์”

ตลอดทุกขั้นตอนการถ่ายทำมีการวางแผนด้วยความใส่ใจในรายละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทุกชิ้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการใช้ไมโครพลาสติกที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งชีวิตในทะเล  ทีมงานทุกคนในโปรเจ็กต์นี้เป็นนักดำน้ำที่ผ่านการรับรองและคำนึงถึงการอนุรักษ์ท้องทะเลอยู่เสมอ และมีนักชีววิทยาทางทะเลที่มาให้คำแนะนำและคำเตือนด้านความปลอดภัยตลอดการถ่ายทำ รวมถึงตรวจสอบความปลอดภัยในการดำน้ำขณะถ่ายทำ

หางเงือกไม่เพียงแค่เป็นองค์ประกอบหลักของหนังสั้น แต่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ท้าทายที่สุดในการถ่ายทำเช่นกัน เพราะการว่ายน้ำในหางเงือกให้ดูสมจริงที่สุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ภราดร เกตุรัตน์ หัวหน้าทีมดีไซเนอร์ผู้ผลิตและออกแบบหางเงือกหนังสั้น Merman เล่าว่า หางอันแรกเป็นหางที่สวยที่สุด ด้วยสีสันที่สดใสและการออกแบบที่สมจริง “เราใช้ผ้าออร์แกนซ่าโปร่งแสง วัสดุรีไซเคิลสะท้อนแสง และพลาสติกโฮโลแกรม เพื่อทำให้หางสะท้อนแสงและเป็นประกายระยิบระยับเหมือนเกล็ดปลา ซึ่งความสมจริงและสวยงามนั้นได้สะท้อนออกมาให้เราเห็นในหนังสั้น”

หางที่สองถูกออกแบบให้เหมือนหางที่บาดเจ็บที่มีทั้งคราบเลือด รอยฟกช้ำ และบาดแผลจากเบ็ดตกปลา ทางทีมงานไม่ต้องการใช้การผสมของเหลวแทนเลือดแล้วนำลงไปในทะเล จึงออกแบบชิ้นโลหะให้ดูเหมือนแผลสดที่มีเลือดออก หางที่สามออกแบบมาเพื่อฉากที่มนุษย์เงือกเสียชีวิต หางนั้นมีทั้งขยะและเศษอวนพันรอบ ซึ่งเป็นหนึ่งในมลพิษทางทะเลที่ส่งผลกระทบและทำลายล้างมากที่สุด

ทีมงานและทีมรักษาความปลอดภัยทุกคนให้การสนับสนุนที่สำคัญตลอดการถ่ายทำ การดำน้ำในท้องทะเลเป็นเวลาสี่ชั่วโมงในขณะที่ Merman มีเศษอวนหนัก ๆ เย็บติดกับหางซึ่งต้องใช้พลังงานมาก แต่ทราย สก็อต ได้ว่ายน้ำในบทมนุษย์เงือกให้ออกมาสมจริงมากที่สุด “การแสดงในทะเลไม่มีอยู่จริง การที่จะแสดงเป็นสัตว์ที่ติดอวนและจมน้ำอยู่ให้สมจริง คุณต้องติดอวนและจมน้ำจริง ๆ”

มีหนังไม่กี่เรื่องที่ถ่ายทำในท้องทะเลลึกจริง ๆ เพราะการถ่ายทำต้องใช้ทักษะการดำน้ำระดับสูงบวกกับความบ้าเล็กน้อย ที่สำคัญระหว่างการถ่ายทำต้องมีคนคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยมากมาย ครึ่งหนึ่งของการถ่ายทำอยู่ที่ความลึก 20 เมตรใต้ทะเล ทราย สก็อต จำเป็นต้องมีถังออกซิเจนสำรองที่พร้อมให้ใช้หายใจระหว่างถ่ายทำ รวมถึงการใช้ทักษะการดำน้ำและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยของทะเลเพื่อสร้างหนังสั้นเรื่องนี้

yodel

yodel
โยเดลผู้มาจากดาวอังคาร เราคือผู้ชื่นชอบเรื่องรถยนต์ ท่องเที่ยว กินดื่ม แต่ก็ยังรักการปั่นจักรยานเพราะสามารถพาไปท่องเที่ยว กินดื่มได้เหมือนกัน...วันว่างยังชอบดูหนัง ฟังเพลง และที่ขาดไม่ได้คือวาดภาพ และประกอบแบบจำลอง... IG: instagram.com/yodel FB: facebook.com/yomodels

Subscribe me