บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป และยูนิเซฟ จับมือส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศไทยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและการพัฒนาทักษะได้มากขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระดับโลกที่เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ภายใต้สโลแกน ‘Bridge. Educating young people for tomorrow, today.’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM education) ให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต
ภายใต้ความร่วมมือระยะยาวระดับโลกครั้งนี้ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป จะมีส่วนสนับสนุนเป้าหมายระดับโลกของยูนิเซฟเพื่อเข้าถึงเด็กและเยาวชนจำนวน 10 ล้านคนทั่วโลกผ่านการศึกษาในแต่ละปี ส่วนประเทศไทยความร่วมมือนี้เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาด้านสะเต็มในโรงเรียนมัธยมศึกษากว่า 100 แห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท เป้าหมายคือการเข้าถึงนักเรียน 25,000 คนและครู 500 คนในช่วงสามปีแรกของความร่วมมือ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการอบรมครูในวิชาด้านสะเต็มศึกษา และจัดกิจกรรมนอกเวลาเรียน ค่ายฝึกทักษะด้านสะเต็มศึกษา งานนิทรรศการวิทยาศาสตร์ และการแนะแนวให้คำปรึกษาแก่เยาวชน โครงการนี้ยังครอบคลุมกลุ่มเยาวชนกลุ่มเปราะบาง และเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม (NEET) เพื่อให้พวกเขามีโอกาสพัฒนาทักษะที่จำเป็น
เมื่อต้นเดือนกันยายน 2567 เรเน่ แกร์ฮาร์ด ประธานและซีอีโอของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย และ คยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนอ่างศิลาพิทยาคม จังหวัดชลบุรี โดยได้เข้าร่วมกิจกรรมด้านสะเต็มศึกษากับนักเรียนที่กำลังสำรวจหัวข้อต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศแบบต่าง ๆ และผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งกิจกรรมเชิงปฏิบัติและการเรียนรู้นอกห้องเรียนเหล่านี้ ช่วยให้นักเรียนเห็นว่าสะเต็มศึกษาสามารถนำไปปรับใช้เพื่อรับมือกับความท้าทายในชีวิตประจำวันได้อย่างไร
แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะได้เข้าเรียนในโรงเรียน แต่เด็กจำนวนมากยังขาดทักษะสำคัญที่จำเป็นสำหรับการศึกษาต่อหรือเข้าสู่ตลาดแรงงาน จากรายงาน PISA 2018 พบว่า มีเพียง 1 ใน 5 ของเด็กผู้ชายและ 1 ใน 7 ของเด็กผู้หญิงในประเทศไทยที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่วางแผนจะประกอบอาชีพในด้านวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ก่อนอายุ 30 ปี นอกจากนี้ ยังพบว่า เยาวชนไทยกว่า 1.4 ล้านคนไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม (NEET) โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางทักษะมากขึ้น