กลุ่มองค์กรพันธมิตรของ “ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม” หรือ ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนเก่าแก่นางเลิ้ง ได้เริ่มดำเนินการจัดเตรียมอาหารและสิ่งของจำเป็นอีกครั้งเพื่อนำไปส่งมอบให้กับชุมชนต่างๆ ที่กำลังขาดแคลนความช่วยเหลือและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุด หลังแจกจ่ายอาหารไปแล้วกว่า 1 ล้านมื้อในปีที่แล้ว
กลุ่มองค์กรพันธมิตรศูนย์ FREC ได้กลับมาสานต่อโครงการ COVID Relief Bangkok ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เพื่อส่งมอบอาหารและสิ่งของจำเป็นให้แก่ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ โดยตั้งเป้ามอบความช่วยเหลือเบื้องต้นให้กว่า 10,000 ครอบครัว
“ปีที่แล้ว โครงการ COVID Relief Bangkok ได้นำความช่วยเหลือจากการระดมทุน พลังของอาสาสมัคร และสิ่งของที่ได้รับบริจาคจากประชาชนและบริษัทต่างๆ ไปส่งมอบให้แก่ครอบครัวจำนวนกว่า 32,000 ครอบครัว คิดเป็นมื้ออาหารถึงหนึ่งล้านมื้อ อีกทั้งยังมีชุดสุขอนามัยจำนวนหลายพันชุด ซึ่งประกอบไปด้วย หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สบู่ และอื่นๆ” นายเสกสรร รวยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสติ หนึ่งในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ร่วมกับศูนย์ FREC ริเริ่มโครงการนี้ กล่าว
“ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงในขณะนี้ เราเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องกลับมาส่งมอบความช่วยเหลือให้กับชุมชนอีกครั้ง เนื่องจากมีครอบครัวจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก”
ในการดำเนินการโครงการ COVID Relief Bangkok รอบแรก พันธมิตรศูนย์ FREC ได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนต่างๆ เป็นระยะเวลานานถึง 6 เดือนโดยได้ส่งมอบความช่วยเหลือครอบคลุมพื้นที่เขตประชากรที่มีรายได้ต่ำในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 22 แห่ง ส่วนการดำเนินการในรอบที่สองซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ มีเป้าหมายที่จะเข้าไปยังพื้นที่เดิมอีกครั้ง โดยจะเป็นการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนเพื่อนำข้าวสารและอาหารกระป๋องที่ได้รับบริจาคไปมอบให้กับครอบครัวต่างๆ มากกว่า 10,000 ครอบครัว
“การนำสิ่งของบริจาคไปมอบให้ถึงมือผู้ที่ขาดแคลนได้อย่างปลอดภัยคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุด” ดร. พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยชุมชนเมือง หรือ USL หนึ่งในผู้จัดตั้งโครงการ COVID Relief Bangkok เผย “เราได้คิดค้นแผนที่กลุ่มผู้เปราะบาง หรือ Vulnerability map เพื่อช่วยในการระบุชุมชนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเครื่องมือนี้จะจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่แจกจ่ายสิ่งของโดยใช้ข้อมูลเชิงประชากร เช่น อายุ ระดับรายได้ ความหนาแน่นประชากร และการจ้างงานมาพิจารณา”
ด้วยการระบุข้อมูลจากแผนที่กลุ่มผู้เปราะบางของ USL ทำให้โครงการ COVID Relief Bangkok ได้เข้าไปส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ชุมชนจำนวนมากที่มีรายได้ครัวเรือนน้อยกว่า 15,000 บาท โดยชุมชนส่วนใหญ่มีประชากรสูงวัยอยู่มาก ซึ่งผู้ปฏิบัติงานได้ให้การดูแลครอบครัวจำนวนมากที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นพิเศษ เนื่องจากในบางครั้งสถานะของพวกเขาเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ครอบครัวที่ได้รับความช่วยเหลือจำนวนมากก็ทำงานที่ต้องพึ่งพิงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในช่วงของการแพร่ระบาดจึงพบการถูกเลิกจ้างงานจำนวนมาก
เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย ศูนย์ FREC จะทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมสิ่งของช่วยเหลือก่อนจะนำไปส่งมอบตามพื้นที่เป้าหมายซึ่งจะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำชุมชน อาทิ กลุ่ม อสม. เข้าร่วมดำเนินการแจกจ่ายตามแนวทางที่จะช่วยลดการติดต่อใกล้ชิดระหว่างกัน
“เมื่อเราได้ข้อมูลแล้วว่าพื้นที่ใดต้องการความช่วยเหลือ เราก็จะทำงานโดยตรงกับหนึ่งใน 62 ศูนย์สุขภาพชุมชนของกรุงเทพฯ” นายเสกสรร เพิ่มเติม “เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่มาจากชุมชนนั้นๆ จะทราบดีว่าครอบครัวไหนกำลังต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ศูนย์สุขภาพชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญในการนำสิ่งของบริจาคไปส่งมอบได้อย่างปลอดภัย”
โครงการ COVID Relief Bangkok เป็นการทำงานร่วมกันของกลุ่มองค์กรพันธมิตรที่นำความชำนาญในแต่ละด้านมาเสริมการทำงานในแต่ละหน้าที่ โดยมูลนิธิสติจะทำหน้าที่ในการสื่อสารระดมทุนและระดมกำลังจากพันธมิตรอย่าง SocialGiver ซึ่งเป็นเว็บไซต์ระดมทุนให้โครงการเพื่อสังคม รวมถึงการสนับสนุนจาก BrandThink ซึ่งเป็นเอเจนซี่ที่ให้บริการที่ปรึกษาการสื่อสารเพื่อสังคม
ศูนย์วิจัยชุมชนเมือง หรือ USL ได้ใช้ความเชี่ยวชาญในการจัดลำดับความสำคัญของแหล่งชุมชนและจัดตั้งเครือข่ายกับศูนย์สุขภาพเมืองทั้ง 62 แห่ง ขณะเดียวกัน มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ SOS ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดการอาหารส่วนเกินคุณภาพดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก็ได้นำประสบการณ์ความชำนาญ และจัดหารถบรรทุกมาช่วยบริหารจัดการการขนส่งอาหาร
Bangkok 1899 หน่วยงานที่นำโดยกลุ่มสตรีและมุ่งเน้นการทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและการสร้างความยั่งยืน ได้ระดมพลังจากเครือข่ายในการจัดหาอาสาสมัครจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีหน่วยงาน Precious Plastic Bangkok ที่ทำงานด้านการรีไซเคิลพลาสติก เข้ามาช่วยเพิ่มการรับรู้ให้แก่ประชาชนในการแยกแยะข้อมูลเท็จและเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้โครงการดำเนินไปได้อย่างสอดคล้องกับการดำเนินงานหลักของทางรัฐบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข 20 กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ใน ศูนย์ FREC ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทีมแพทย์และอาสาสมัครไปยังศูนย์ต่างๆ ในทุกเขตที่มีการดำเนินโครงการ
มร. สก็อตต์ ชาง ผู้อำนวยการกองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ฟอร์ด ฟันด์) ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า “ในช่วงที่ฟอร์ดเปิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชน หรือ FREC ในเดือนตุลาคม 2562 เราได้ทำงานร่วมกับกลุ่มพันธมิตรเพื่อสังคมที่มีความเชี่ยวชาญผ่านการระดมทักษะและความชำนาญอันหลากหลายของแต่ละองค์กร ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกรุงเทพฯ กลุ่มองค์กรพันธมิตรของเราได้ทำหน้าที่อย่างรวดเร็ว พร้อมกับจัดตั้งช่องทางรับบริจาคและสร้างกระบวนการจัดส่งที่ไม่ซับซ้อน มีกลยุทธ์ และปลอดภัย”
นับตั้งแต่ที่ได้เริ่มดำเนินโครงการมาในเดือนมีนาคมปี 2563 โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ผู้มีชื่อเสียง บริษัทเอกชน และหน่วยงานรัฐบาล รวมแล้วกว่า 11 ล้านบาท
ในการทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตร ฟอร์ดมีบทบาทสำคัญในการระดมความช่วยเหลือทั้งจากพนักงานของบริษัท และพันธมิตรคู่ค้าของฟอร์ด นอกจากการช่วยเหลือด้านเงินทุนผ่านศูนย์ FREC แล้ว ฟอร์ดยังได้จัดเตรียมรถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ และรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ เป็นพาหนะในการนำส่งสิ่งของ ในปีที่ผ่านมา หนึ่งในพันธมิตรคู่ค้าหลักของฟอร์ดได้สนับสนุนหน้ากากป้องกันใบหน้าจำนวนมากให้กับโครงการเพื่อนำไปจัดทำ “ชุดส่งมอบความห่วงใย” (care package) นอกจากนี้ พนักงานอาสาสมัครฟอร์ดยังได้เข้าร่วมจัดเตรียมและนำส่งสิ่งของช่วยเหลือไปยังชุมชนอีกด้วย
โครงการ COVID Relief Bangkok ระยะที่สองจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยทีมงานวางแผนที่จะส่งมอบความช่วยเหลือไปยังครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกำลังขาดแคลนและต้องการความช่วยเหลือเป็นจำนวนกว่า 10,000 ครอบครัว ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการสนับสนุน สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.socialgiver.com โดยโครงการยินดีรับบริจาคข้าวสาร นมกล่อง และอาหารกระป๋องเพื่อเป็นการสนับสนุนภารกิจนี้