กู๊ดเยียร์ เผยโฉมยางรถยนต์ต้นแบบ “ออกซิเจน” (Oxygene) ในงาน เจนีวา อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2018 โซลูชั่นแห่งอนาคตที่จะช่วยเสริมแนวคิดด้านเทคโนโลยีแห่งการขับขี่ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงเสริมสมรรถนะและพัฒนาเทคโนโลยีแห่งการขับขี่ในเมือง ให้สามารถลดมลภาวะ สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และปลอดภัยอย่างยั่งยืน
ยางรถยนต์ต้นแบบ “ออกซิเจน” ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างยางที่โดดเด่นแบบเปิด และดอกยางแบบอัจฉริยะที่มาพร้อมกับต้นมอสที่เติบโตอยู่ภายในแก้มยาง ทำหน้าที่ช่วยดูดซับและระบายความชื้นจากน้ำบนพื้นผิวถนน แล้วจึงทำการสังเคราะห์ด้วยแสง โดยปล่อยก๊าซออกซิเจนขึ้นสู่ชั้นอากาศมร. คริส เดอลานีย์ ประธานบริหารประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) กล่าวว่า “มีการคาดการณ์ไว้ว่า ภายในปีพ.ศ. 2595 จะมีประชากรมากกว่า 2 ใน 3 บนโลก ที่อาศัยอยู่ในเมืองต่าง ๆ ส่งผลให้ความต้องการด้านเครือข่ายการคมนาคมขนส่งในเมือง พุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้โครงสร้างขั้นพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งที่ใช้ระบบอัจฉริยะและใส่ใจสิ่งแวดล้อม จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาช่วยจัดการกับอุปสรรค รวมถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแห่งการขับขี่ในเมือง”
นับเป็นการต่อยอดจากหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน ผสานกับการให้ความสำคัญด้านการช่วยลดปริมาณขยะจากวัสดุ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสูญเสียพลังงาน ยางรถยนต์ต้นแบบ ออกซิเจน ของกู๊ดเยียร์ จึงได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงปัญหาดังกล่าวอย่างสมบูรณ์แบบ และสร้างสรรค์ทิวทัศน์ของเมืองแห่งอนาคต โดยมาพร้อมกับโซลูชั่นด้านสมรรถนะที่หลากหลาย อาทิ
- ทำอากาศให้บริสุทธิ์: สามารถดูดซับความชื้นจากพื้นผิวถนน ด้วยดอกยางที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ให้สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงต้นมอสที่อยู่ในส่วนของแก้มยาง แล้วจึงปล่อยก๊าซออกซิเจนจากขบวนการสังเคราะห์แสง เหมาะสำหรับเมืองที่มีขนาดใหญ่เทียบเท่ากับมหานครปารีส ซึ่งมียวดยานพาหนะราว 2.5 ล้านคัน เท่ากับว่าสามารถผลิตปริมาณออกซิเจนได้เกือบ 3,000 ตัน และสามารถดูดซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 4,000 ตันต่อปี
- การนำยางที่ใช้แล้วมารีไซเคิล: ด้วยโครงสร้างแบบไม่ใช้ความดันอากาศภายในตัวยาง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ จากผงยางของยางรีไซเคิล ทำให้ยางมีโครงสร้างน้ำหนักเบา และสามารถรับน้ำหนักได้ดี อีกทั้งช่วยให้ยางมีอายุการใช้งานที่ยาวนานยิ่งขึ้นและไร้รูรั่ว ซึ่งเป็นไปตามจุดประสงค์ของกู๊ดเยียร์ที่ต้องการช่วยยืดอายุการใช้งานของยาง และลดปัญหาการดูแลรักษายาง นับเป็นการส่งเสริมเทคโนโลยีแห่งการขับขี่ไร้กังวลโดยแท้จริง อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยด้วยการเสริมสมรรถนะด้านการยึดเกาะของยางบนถนนเปียกอีกด้วย
- การผลิตกระแสไฟฟ้าในตัว: สามารถผลิตพลังงานที่ได้มาจากขบวนการสังเคราะห์แสง ให้กลายเป็นพลังงานขับเคลื่อนกลไกอิเล็กทรอนิกส์ที่ฝังในตัวยาง เช่น เซ็นเซอร์ออนบอร์ด หน่วยประมวลผล และแถบไฟที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นสีต่าง ๆ บริเวณแก้มยาง เพื่อส่งสัญญาณเตือนทั้งผู้ขับขี่และคนเดินเท้า สามารถรับรู้ถึงการบังคับรถที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนช่องทาง หรือการเบรก เป็นต้น
- การสื่อสารด้วยอัตราความเร็วของแสง: สามารถใช้ระบบการสื่อสารด้วยแสงที่มองเห็นด้วยตาเปล่า หรือระบบ LiFi สำหรับเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อเคลื่อนที่ที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยอัตราเร็วของแสง ทั้งนี้ระบบ LiFi ยังเชื่อมต่อยางรุ่นนี้ไว้กับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ เพื่อการส่งข้อมูลระหว่างพาหนะถึงพาหนะ (V2V) และพาหนะถึงโครงสร้างขั้นพื้นฐาน (V2I) เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและการสัญจร ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับระบบการจัดการเทคโนโลยีแห่งการเคลื่อนที่แบบอัจฉริยะ
มร. เดอลานีย์ กล่าวเสริมว่า “กู๊ดเยียร์เคยนำเสนอการต้นแบบแนวคิดที่กรุงเจนิวา ซึ่งยางรถยนต์ต้นแบบ ออกซิเจน นับเป็นเรื่องที่ท้าทายทางความคิดของเรา และยังช่วยสร้างกระแสให้กับเทคโนโลยีแห่งการเคลื่อนที่แห่งอนาคตที่ใช้ระบบอัจฉริยะ ปลอดภัย และยั่งยืน ด้วยการให้ความสำคัญต่อการทำอากาศให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และสุขภาพของผู้คนที่พักอาศัยในเมืองได้เช่นกัน”