10 เรื่องน่ารู้ (ที่คุณยังไม่รู้) เกี่ยวกับจีเอ็มและเชฟโรเลต
Oct 26, 2018

จีเอ็ม และฝ่ายผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติของบริษัท Cruise Automation ที่เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับได้ประกาศความร่วมมือกันระหว่างฮอนด้า เพื่อสานต่อการพัฒนาเทคโนโลยีขับเคลื่อนยานยนต์ด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งฮอนด้าจะทำงานร่วมกับครูซ และเจนเนอรัล มอเตอร์ส ในการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับสำหรับครูซเพื่อการใช้งานทั่วโลก

ในการร่วมมือในครั้งนี้ ฮอนด้าจะใช้งบลงทุนกว่า 2.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มการลงทุนกว่า 2.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากนักลงทุนในกองทุน Vision Fund ของ Softbank ความร่วมมือ และการระดมทุนครั้งนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับจีเอ็ม ในฐานะเป็นผู้นำเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ โดยจีเอ็มมีแผนที่จะเปิดตัวยานยนต์ไร้คนขับในปี 2562 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิสัยทัศน์ของการพัฒนายานยนต์ในอนาคตเพื่อต้องการทำให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ ไร้มลพิษ และปราศจากความแออัด

คุณอาจจะยังไม่รู้ว่า จีเอ็มได้นำเอาเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว ในรูปแบบรถลำเลียงขนส่งชิ้นส่วนอัตโนมัติ หรือ Autonomous guided vehicles (AGV) เราเรียกรถดังกล่าวว่า “บัมเบิลบี” (Bumblebees) ซึ่งเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ทำหน้าที่ส่งชิ้นส่วนและส่วนประกอบไปยังสายการผลิตของรถกระบะเชฟโรเลต โคโลราโด และรถอเนกประสงค์เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ที่ศูนย์การผลิตของจีเอ็ม ประเทศไทย ในจังหวัดระยอง รถลำเลียงขนส่งอัตโนมัติจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งชิ้นส่วนไปยังสายการผลิต เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของการสร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ก้าวล้ำของจีเอ็มในระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ในรถยนต์ของเชฟโรเลต เราลองมาย้อนความทรงจำถึงเหตุการณ์ในอดีตกันว่า ไฮไลต์สำคัญของจีเอ็มและเชฟโรเลตนั้นมีอะไรบ้าง ไม่แน่ว่าเรื่องราวบางเรื่องอาจจะสร้างความประหลาดใจให้คุณก็เป็นได้

5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับจีเอ็ม

1. ผู้พัฒนาด้านเซลส์เชื้อเพลิง (Fuel Cell): ความร่วมมือในการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับระหว่างจีเอ็ม และฮอนด้าไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ในช่วงปี 2533 ทั้งสองบริษัทได้ร่วมมือกันพัฒนารถยนต์หลากหลายรุ่น และคิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ ร่วมกัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 จีเอ็มและฮอนด้าได้ลงนามข้อตกลงในการพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในปี 2560 ทั้งสองบริษัทได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อผลิตระบบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนชั้นสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตการผลิตในปี 2563

2. ผู้คิดค้นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า: ในขณะที่ความสำเร็จของจีเอ็มด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากเชฟโรเลต โบลต์ และเชฟโรเลต โวลต์ รถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัทซึ่งได้รับการเปิดตัวไปเมื่อปี 2539 ถึงปี 2542 จีเอ็มได้ออกแบบ และผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายุคใหม่ รุ่น EV1 ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่ผลิตจำนวนมากโดยผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ EV1 เป็นรถพลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกที่ได้รับการออกแบบให้เป็นรถยนต์ขนาดเล็กที่เป็นรถโดยสารคันแรก และรุ่นเดียวที่จะวางขายในตลาด ภายใต้แบรนด์จีเอ็ม

3. ผู้บุกเบิกสนามทดสอบรถยนต์: จีเอ็มเป็นบริษัทรถรายแรกที่สร้างสนามทดสอบรถยนต์เมื่อปี 2467 โดยตั้งอยู่ที่เมืองมิลฟอร์ด รัฐมิชิแกน มีขนาดพื้นที่ 16 ตารางกิโลเมตร มีเส้นทางทดสอบรถความยาวกว่า 212 กิโลเมตร เพื่อใช้ทดสอบการขับขี่ในรูปแบบต่างๆ รถทุกๆ คันของจีเอ็มจากทุกมุมโลกจะต้องผ่านการทดสอบโดยเจ้าหน้าที่จีเอ็ม ที่สนามทดสอบรถยนต์แห่งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจีเอ็มได้เปิดสนามทดสอบรถยนต์หลายแห่งในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป ออสเตรเลีย และจีน ซึ่งสนามทดสอบรถยนต์หลายแห่งยังคงเปิดดำเนินการอยู่ถึงปัจจุบัน

4. ผู้นำด้านความปลอดภัย: ทุกวันนี้จีเอ็มใช้หุ่นจำลองในทุกรูปแบบ และทุกขนาดภายในห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัย โดยแต่ละตัวมีเซ็นเซอร์ 70-80 ตัวที่คอยจับการเคลื่อนไหว และส่งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถึง 10,000 ครั้งต่อวินาที เพื่อตรวจจับความแรง และประเภทของความรุนแรงในระหว่างการชน ทีมวิศวกรจะศึกษาข้อมูลจากทั้งการทดสอบทางกายภาพ และการจำลองแบบโดยคอมพิวเตอร์ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ ระบบความปลอดภัย และการตอบสนองของผู้โดยสารเมื่อเกิดการชน จากนั้นจึงนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนารถยนต์ต่อไป

5. ผู้สร้างสรรค์ระบบการสื่อสารในรถยนต์: ก่อนที่สมาร์ทโฟน และแอพพลิเคชั่นจะช่วยให้ผู้บริโภคเชื่อมต่อกับศูนย์บริการคอลล์ เซ็นเตอร์ จีเอ็มพัฒนาระบบออน์สตาร์ ซึ่งเป็นระบบการสั่งงานด้วยเสียงแบบแฮนด์ฟรีในรถยนต์เป็นรายแรกของโลกเมื่อปี 2539 เทคโนโลยีออนสตาร์จะใช้ตำแหน่ง และการสื่อสารผ่านดาวเทียมทั่วโลก เพื่อเชื่อมการติดต่อระหว่างผู้ขับขี่รถยนต์กับเจ้าหน้าที่ของออนสตาร์ ที่จะให้คำปรึกษาตั้งแต่เส้นทางการขับขี่ไปจนถึงการช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง

5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเชฟโรเลต

1. หลุยส์ เชฟโรเลต เกิดที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2454 เขาเป็นนักแข่งรถ และวิศวกร หลุยส์ได้ร่วมกับวิลเลียม บิลลี่ ซี ดูแรนท์ ก่อตั้งเชฟโรเลต บริษัทผลิตรถยนต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา และเริ่มผลิตรถยนต์รุ่นแรก เมื่อปี 2455 โดยเริ่มจากแชส์ซีส์ C Classic Six ซึ่งเป็นรถยนต์หรูที่มีเครื่องยนต์สมรรถนะสูงหกสูบ ตามด้วยรุ่น Model H ที่จับต้องได้ง่ายขึ้น ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สี่สูบที่มีความทนทาน ซึ่งช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับเชฟโรเลตในฐานะรถยนต์ที่สามารถไว้วางใจได้ ช่วงปลายปี 2456 หลุยส์ได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองอินเดียแนโพลิส เพื่อมุ่งเน้นไปที่การแข่งรถ ซึ่งเขาและพี่น้องได้กลายเป็นตำนานของการแข่งขันอินเดียแนโพลิส 500

2. 100 ปีที่ผ่านมาเชฟโรเลตผลิตรถกระบะคันแรก คือ แชส์ซีส์ Series 490 Light Delivery และขายในราคาเพียง 595 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 19,000 กว่าบาท) รถกระบะรุ่นดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานรถกระบะเชฟโรเลตที่แข็งแกร่งที่สานต่อมาจนถึงปัจจุบัน จากรถกระบะ Roadster ปี 1930 จนมาถึงรถกระบะ Advance Design Series ปี 1947-1955 รถกระบะ Task Force ปี 1955-1959 รถกระบะ C/K series ปี 1960-1999 และรถกระบะซิลเวอร์ราโด และโคโลราโด รุ่นปัจจุบัน เชฟโรเลตได้จำหน่ายรถกระบะไปทั่วโลกมากกว่าหลายล้านคัน โดยที่ศูนย์การผลิตของจีเอ็ม ประเทศไทย ได้ผลิตรถกระบะโคโลราโด 481,402 คัน เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย และส่งออกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ปี 2546

3. กลุ่มรถที่ขายดีที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ รถอเนกประสงค์ หรือ Sport Utility Vehicle (SUV) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2478 เมื่อเชฟโรเลตได้เปิดตัวรถอเนกประสงค์รุ่น Suburban Carryall ซึ่งเป็นรถขนาดแปดที่นั่ง สร้างจากโครงตัวถังรถขนาดครึ่งตัน ด้วยราคา 675 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 22,000 บาท) โดยราคานี้ไม่รวมเครื่องทำความร้อน และกันชนด้านหลังรถ รถอเนกประสงค์คันแรกของโลกแทบจะไม่เหมือนกับรถอเนกประสงค์สำหรับครอบครัวในปัจจุบัน ที่มาพร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแบบครบครันอย่างรถอเนกประสงค์ เทรลเบลเซอร์

4. เชฟโรเลตมีชื่อเสียงทั้งในด้านสมรรถนะของรถยนต์ เช่น คอร์เวตต์ที่ดูโฉบเฉี่ยว และคามาโรที่มีความแข็งแกร่ง รวมถึงการมีส่วนร่วมในการแข่งรถหรือมอเตอร์สปอร์ตของเชฟโรเลตทำให้มีการ ‘ถ่ายทอดเทคโนโลยี’ จากรถที่ใช้ในสนามแข่งไปยังรถยนต์ที่ผลิตเพื่อการใช้งานทั่วไป ความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีการผลิตเครื่องยนต์ และหลักการของอากาศพลศาสตร์ ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่มาจากรถแข่งก่อนที่จะถูกนำมาใช้ในการผลิตรถยนต์สำหรับวิ่งบนถนนจริง

5. ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย มีช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพคอยให้บริการในด้านการบำรุงรักษา และซ่อมแซมรถยนต์ของลูกค้า เพื่อให้สามารถบำรุงรักษารถยนต์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพของเชฟโรเลตทุกคนจะต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรทั้งหมด 12 ประเภท รวมถึงการอบรมเชิงทฤษฎี และเชิงปฏิบัติต่างๆ อีกหลายหลักสูตร

yodel

yodel
โยเดลผู้มาจากดาวอังคาร เราคือผู้ชื่นชอบเรื่องรถยนต์ ท่องเที่ยว กินดื่ม แต่ก็ยังรักการปั่นจักรยานเพราะสามารถพาไปท่องเที่ยว กินดื่มได้เหมือนกัน...วันว่างยังชอบดูหนัง ฟังเพลง และที่ขาดไม่ได้คือวาดภาพ และประกอบแบบจำลอง... IG: instagram.com/yodel FB: facebook.com/yomodels

Subscribe me